วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 เพื่อส่งเข้าแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 22-29 ตุลาคม 2566 โดยจัดแถลงข่าวเปิดตัวร่วมกับผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด และ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ในวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 16.00-19.00 น. ณ ลานมิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ
ในช่วงแรกของงาน อาจารย์จิรวัฒน์ กรุณา รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้กล่าวรายงานและเปิดวิดีทัศน์เสนอเรื่องราวของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่รุ่น STC-1 ในปี พ.ศ. 2558, STC-2 ในปี พ.ศ. 2560, STC-3 ในปี พ.ศ. 2562 และในปีล่าสุดกับ STC-4 หรือ Thainamic รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานของอาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สู่การแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย บนเส้นทางจากเมือง Darwin สู่ Adelaide รวมระยะทางกว่า 3,022 กิโลเมตร ท่ามกลางความท้าทายของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพื่อยกระดับนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ต่อยอดไปให้ไกลกว่าเดิม
ภายในงานได้มีแขกคนสำคัญเช่น ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้กล่าวต้อนรับและแถลงข่าวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 แล้วจึงเป็นการกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 โดย ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และเป็นพิธีมอบเสื้อให้กับทีม STC-4 โดยคุณเคอิจิ ชูมะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบรดิจสโตน จำกัด หลังจากนั้นจึงได้เชิญคุณชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยแขกคนสำคัญข้างต้น ทำพิธีเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 แล้วจึงถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน พร้อมกับอาจารย์ นักศึกษา และทีมงาน STC-4 ก่อนเข้าสู่การเสวนาหัวข้อ “อนาคตรถพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนในประเทศไทย” บริเวณห้องอเนกประสงค์ ของมิวเซียมสยาม
การเสวนาดำเนินรายการโดย ดร.ฐกฤต ปานขลิบ ที่ปรึกษาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นที่ 1 2 และ 3 พร้อมด้วยผู้ร่วมเสวนาอีกทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ คุณชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คุณอรรถพล แพรพริ้วงาม ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ส่วนงานความยั่งยืน บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด และ ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “อนาคตรถพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนในประเทศไทย” ซึ่งได้มีข้อคิดเห็นที่ตรงกันว่า สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักว่าต้องปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง พลังงานเชื้อเพลิงเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ไม่อาจขาดต่อการดำรงชีวิตได้ ดังนั้นแล้วเพื่อรักษาสมดุลให้โลกและความประสงค์ที่ต้องการใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น คือร่วมกันหาทางออกที่ดีกว่าเดิม โดยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ที่สามารถลดการเกิดมลพิษได้ดี เป็นทางเลือกที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจและพยายามพัฒนานวัตกรรมนี้กันอย่างต่อเนื่อง
รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 ผลงานผลิตและสร้างสรรค์ โดยอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมากที่สุด โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยมีหน้ากว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.6 เมตร ระบบภายในตัวรถมีการส่งข้อมูลสื่อสารผ่านระบบ Cloud สามารถทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยทำระยะทางได้ถึง 1,200 กิโลเมตร/ชาร์จ จากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยสีขาว แดง น้ำเงิน พร้อมลวดลายความพลิ้วไหวจากหางปลากัดไทย โดยวิทยาลัยเทคโนโลยี--สยามมีความคาดหวังว่า รถ STC-4 จะสามารถนำไปต่อยอดเป็นรถต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
ด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ โดยไทยเราจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมพลังงานแหล่งใหม่ได้ ดังนั้น OKMD ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมความรู้ และศักยภาพทุนมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงพร้อมร่วมเดินหน้าส่งเสริมยานยนต์แห่งอนาคตของประเทศไทย โดยการบริหารจัดการ พัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ และจำเป็น เพื่อผลักดันนักศึกษาไทยก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก รวมทั้งการนำความรู้เกี่ยวกับยานยนต์พลังงานทางเลือกไปเผยแพร่สู่ชุมชนและสังคม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก เพื่อใช้ในการต่อยอดเพื่อพัฒนาตนเอง การดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นต่อไป”
ด้านคุณชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ EGAT Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยดำเนินงานส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ ซึ่งโครงการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 นั้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ และเป็นการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงเห็นความเหมาะสมในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของนักศึกษาไทย ไปสู่การแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย
ด้านคุณอรรถพล แพรพริ้วงาม ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ส่วนงานความยั่งยืน บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด กล่าวถึงนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยทางองค์กรได้พัฒนาการผลิตยางรถยนต์ชนิดพิเศษจากวัสดุ Recycle มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จ 100% ภายในปี ค.ศ. 2040 ในการเข้าสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 เพราะเห็นถึงความเป็นไปได้ของนวัตกรรมยานยนต์พลังงานทดแทน และเป็นการทดสอบถึงประสิทธิภาพของยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกออกแบบและพัฒนาสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานในรถยนต์ไฟฟ้าได้ดีอีกด้วย
ด้าน ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวถึงความสำคัญของการส่งมอบแรงบันดาลใจจากอาจารย์สู่นักศึกษา ความมุ่งมั่นที่จะสรรสร้างนวัตกรรมและนวัตกรในระดับอุดมศึกษาของวิทยาลัย การส่งผลงานเข้าประกวดในรายการระดับโลกเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ผู้เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์มากมายที่สามารถต่อยอดและพัฒนาต่อได้ นอกจากนี้ยังเป็นการลงทุนใน รถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการลงทุนในอนาคตที่มีความเป็นไปได้ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคสมัยต่อจากนี้
โดยผู้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกนำมาใช้งานในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถกักเก็บพลังงานได้อย่างเพียงพอต่อการใช้งาน และถูกนำมาใช้ทั้งในและต่างประเทศ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ไม่ใช่เพียงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน โดยหลังสิ้นสุดการเสวนาได้มีการอภิปรายและตอบข้อซักถาม ก่อนจะทำการปิดงานแถลงข่าว
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมีความเชื่อมั่นว่าการแข่งขันในครั้งนี้ STC-4 หรือ Thainamic ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีสมรรถนะในการขับขี่ที่ถูกต้องตามหลักกลศาสตร์ และสามารถต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต จะสามารถทำผลงานการแข่งขันได้เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ หรือ นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประเทศไทยจนถึงระดับนานาชาติต่อไป
30 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 89 ครั้ง