• เลขาธิการ คปภ. กำชับสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ เร่งติดตามค่าสินไหมทดแทนเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มที่
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาตลอด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเพื่อให้มีการนำระบบประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 มีพี่น้องประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและเดินทางพบปะญาติมิตรตามประเพณีส่งผลให้การใช้รถใช้ถนนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย พร้อมสั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายด้านประกันภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออก 7 มาตรการ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเทศกาลปีใหม่ และพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยกับประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีกรณีเกิดอุบัติเหตุ ประกอบด้วย มาตรการแรก เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่กับศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ เพื่อให้การสนับสนุน และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยกับหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่ 2 ร่วมกับจังหวัดตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดตรวจร่วม/จุดบริการร่วม รวมทั้งประสานและประชุมกับเครือข่ายประกันภัยในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและสนับสนุนข้อมูลด้านการประกันภัย การจัดการสินไหมทดแทนให้กับประชาชน หากมีเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือด้านการประกันภัย พร้อมร่วมตั้งศูนย์บริการประกันภัยช่วง 7 วัน อันตรายระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ
มาตรการที่ 3 ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทย ปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการจำหน่าย รายชื่อหน่วยงาน บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมและสาขาบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยในพื้นที่ เป็นต้น เงื่อนไขการรับประกันภัย ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มคือ ผู้ประกอบการ ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) ช่วงอายุการรับประกันภัยตั้งแต่ 20-70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ช่วงเวลาทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
มาตรการที่ 4 ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ปีใหม่สุขใจ บ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการจำหน่าย รายชื่อหน่วยงาน บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วม และสาขาบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยในพื้นที่ เป็นต้น เงื่อนไขการรับประกันภัย ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มคือ ผู้ประกอบการ ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 30,000 บาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) ช่วงอายุการรับประกันภัยตั้งแต่ 20-70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ช่วงเวลาทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
มาตรการที่ 5 จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่น และ/หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่ และสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ เรื่อง กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ปีใหม่สุขใจ บ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท การประกันภัยรถตาม พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 การรณรงค์ดื่มไม่ขับ การรณรงค์ให้ผู้ที่ใช้รถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัย และรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น
มาตรการที่ 6 ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่จะใช้ในการติดต่อกับสำนักงาน คปภ. นอกเหนือจากสายด่วน คปภ. 1186 โดยในส่วนภูมิภาค ได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) เพื่อการติดต่อประสานงานและบูรณาการร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้จากข้อมูล ในช่วง 7 วันอันตราย ได้มีประชาชนใช้บริการผ่านบริการสายด่วน คปภ. 1186 เป็นจำนวนมาก
โดยประเด็นหารือที่มีประชาชนสอบถามเข้ามามากที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย ตรวจสอบและสอบถามเงื่อนไขความคุ้มครองประกันภัยรถภาคบังคับ ตรวจสอบและสอบถามเกี่ยวกับประกันภัยรถภาคสมัครใจ ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับใบอนุญาต/สมัครสอบ/อบรม/การขอรับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย ประเภทนิติบุคคล ต้องการร้องเรียนด้านประกันภัย และขอคัด ตรวจสอบ ติดตามกรมธรรม์ประกันภัย ตามลำดับ
มาตรการที่ 7 กรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ สำนักงาน คปภ.ภาคและจังหวัด พร้อมลงพื้นที่โดยทันทีเพื่อติดตามช่วยเหลือและตรวจสอบด้านการประกันภัยเบื้องต้นว่ามีผู้ประสบภัยจากรถมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยใด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ประสานผู้ประสบภัย ทายาทผู้ประสบภัย และบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งติดตามให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ สำนักงานขนส่งจังหวัด รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สาขาบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าผู้ประสบภัยได้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก จะได้ประสานบริษัทประกันภัยเพื่อช่วยติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป
จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม – 4 มกราคม 2566 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 (ศปถ.) พบว่าสถิติอุบัติเหตุสะสม 2,440 ครั้ง เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 2,707 ครั้ง ลดลง 267 ครั้ง (คิดเป็น -9.68%) จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (79 ครั้ง) รองลงมาได้แก่ จังหวัดสงขลา (75 ครั้ง) และจังหวัดเชียงราย (73 ครั้ง) ส่วนผู้บาดเจ็บสะสม 2,437 คน เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (2,672 คน) ลดลง 235 คน (คิดเป็น -8.79%) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (81 คน) รองลงมาได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (79 คน) และจังหวัดสงขลา (76 คน) และมีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 317 ราย เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (333 ราย) ลดลง 16 ราย (คิดเป็น -4.80%) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (15 ราย) รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี (13 ราย) และสุราษฎร์ธานี (11 ราย)
สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้านการประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ณ วันที่ 5 มกราคม 2566 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2565 - 4 ม.ค.2566 รวม 136 ราย เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 163 ราย ลดลง 27 ราย (ลดลงร้อยละ 16.56) จำนวนเงิน 7,886,676 บาท เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 6,037,281 บาท เพิ่มขึ้น 1,849,395 บาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.63) จึงได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยเร่งประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นอกจากนี้ยังพบว่า มีรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 82.11 และในจำนวนรถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุมีร้อยละ 44 ที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
“แม้ว่าการทำประกันภัยไม่สามารถป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การทำประกันภัยจะเป็นเครื่องมือที่ใช้บริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว การประกันภัยจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ และฝากเตือนถึงเจ้าของรถรวมถึงผู้ใช้รถขอให้ทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและครบวงจร และถ้ามีกำลังซื้อขอให้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติม เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีจากการที่สำนักงาน คปภ. ได้รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลทำให้การเกิดอุบัติเหตุปีนี้ลดลง จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มา ณ โอกาสนี้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
06 มกราคม 2566
ผู้ชม 116 ครั้ง