สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการประกอบธุ รกิจ รวมถึงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS 17) และแนวโน้มที่บริษัทประกันภัยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance: ESG) มากขึ้น

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องตื่นตัวและปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในทุกสถานการณ์ สำนักงาน คปภ. จึงมีนโยบายส่งเสริม Consolidation ในภาคธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถด้วยการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีศักยภาพในการเติบโต ยกระดับผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการและเข้าถึงประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้บริษัทและอุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สำหรับการควบรวมกิจการประกันภัยคู่ล่าสุด คือ บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทประกันภัยที่มีเครือข่ายในระดับสากล ได้ควบรวมกิจการเข้ากับบริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้นำการรับประกันภัยประเภทประกันภัยอุบัติเหตุ และประกันภัยสุขภาพ โดยภายหลังจากการควบรวบกิจการแล้วใช้ชื่อ บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินกิจการ โดยได้รับความเห็นชอบการควบรวมกิจการจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) หลังจากนั้นบริษัทก็ได้ดำเนินการตามแผนการควบเข้ากัน ภายใต้หลักการสำคัญที่ได้รับนโยบายจากคณะกรรมการ คปภ. คือ ต้องไม่ทำให้เสื่อมสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยที่ได้รับตามสัญญาประกันภัย และประกาศให้สาธารณชนทราบถึงการควบกันของบริษัท

 

 

 

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดนั้น ทางคณะผู้บริหารของบริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามารับมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจากสำนักงาน คปภ. ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้มีการหารือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับบริษัทเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต และการสนับสนุนนโยบาย One Presence ของภาครัฐ เนื่องจากภายใต้กลุ่ม Chubb มีบริษัทประกันภัยในประเทศไทย 2 แห่ง

สำนักงาน คปภ. โดยคณะกรรมการ คปภ. เห็นว่า นโยบาย Consolidation จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยใช้ความรู้ความชำนาญและทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย และสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสากล เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น