ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อ “ปรับเปลี่ยนวิถี ไม่กินปลาดิบ วางแผนชีวิตด้วยประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานเครือข่ายที่ให้ความรู้ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถพล ติตะปัญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และกรรมการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (CARI) นางสาวดาเนตร วันทนีย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย สำนักงาน คปภ. นายไพบูลย์ ทรงแสงฤทธิ์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี และนายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ที่ปรึกษาแผนกสินไหมสุขภาพบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีการกิจกรรมจัดบูธประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย โรงพยาบาลนครพนม มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานเครือข่าย และ OTOP จำนวน 24 แห่ง ตลอดจนการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน “ฟรี” โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม จังหวัดนครพนม เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย

 

 

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภท Tailor-made ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะรายในราคาที่เหมาะสม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นในการรองรับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ ได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กับประชาชนได้เข้าถึงระบบประกันภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงในชีวิตได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยสำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 11 จังหวัด ได้สำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่า ประชากรในเขตภาคอีสาน มักมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด โดยวิธีการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ปลาร้า ที่เป็นกลุ่มปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และหลังจากติดเชื้อประมาณ 20-30 ปี ก็จะป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและเสียชีวิตภายใน 1 ปี ประกอบกับข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พบว่า ประชากรในภาคอีสานมีสถิติป่วย เป็นโรคนี้สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับประมาณ 6 ล้านคน และในจำนวนนี้พัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีประมาณปีละ 10,000 – 20,000 ราย โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีอยู่อายุระหว่าง 40-60 ปี นับเป็นการสูญเสียชีวิตในช่วงวัยแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศตามมา

 

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแบบ “กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี” เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตหรือวัฒนธรรมการบริโภคของประชาชน ทั้งนี้กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี ให้ความคุ้มครองผู้ทำประกันภัยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีหลักฐานรายงานการตรวจวินิจฉัย X-RAY ช่องท้องด้วยคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือ รายงานการตรวจวินิจฉัยช่องท่องด้วยเครื่องแม่เหล็ก (MRI หรือ MRCT) บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัย ขึ้นอยู่กับวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้ อัตราเบี้ยประกันภัยที่ไม่แพง โดยจะแบ่งตามช่วงอายุผู้ทำประกันภัย

 

 

จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม โดยมี นายปณิธิ ป้องสนาม ปลัดอาวุโส อำเภอเรณูนคร และนางรัตนาภรณ์ คงพราหมณ์ นายกเทศมนตรีตำบลเรณูนคร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” พร้อมถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 และสื่อออนไลน์

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ให้การช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกและประสานงานบริษัทประกันภัย จนเป็นผลให้ทายาทของชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม และต่อมาภายหลังสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการเรียบร้อยแล้ว

“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ตรงกับความต้องการและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย